เมนู

6. ทุติยนตุมหากสูตร


ว่าด้วยอายตนะภายนอก 6 ไม่ใช่ของตน


[220] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าไม่ใช่ของ
เธอทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย
รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ความสุข เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงละธรรมารมณ์นั้นเสีย ธรรมารมณ์นั้นอันเธอทั้งหลายละ
ได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ชนพึงนำหญ้าไม้ กิ่งไม้และใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันนี้ไป หรือพึงเผา หรือ
พึงทำตามสมความแก่เหตุ เธอทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำพวก
เราไป หรือเผา หรือทำตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ บ้างหรือหนอ. ภิกษุ
ทั้งหลาย กราบทูลว่า หาเป็นดังนั้นไม่ พระเจ้าข้า.
พ. ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร.
ภิ. เพราะเหตุว่า หญ้าเป็นต้นต้นนั้นมิได้เป็นตน หรือเป็นของ
เนื่องด้วยตนของข้าพระองค์ทั้งหลายเลย พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล รูปไม่ใช่ของเธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว
จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ธรรมารมณ์ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละธรรมารมณ์นั้นเสีย
ธรรมารมณ์นั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุข.
จบ ทุติยนตุมหากสูตรที่ 6

7. ปฐมเหตุอัชฌัตตสูตร


ว่าด้วยอายตนะภายในเป็นของไม่เที่ยง


[221] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและ
ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักษุนั้นก็ไม่เที่ยง จักษุอันเกิดแต่เหตุปัจจัยที่
ไม่เที่ยง ที่ไหนจักเที่ยงเล่า ฯลฯ ใจเป็นของไม่เที่ยง แม้เหตุและปัจจัย
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งใจนั้นก็ไม่เที่ยง ใจอันเกิดแต่เหตุปัจจัยที่ไม่เที่ยง ที่
ไหนจักเที่ยงเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ แม้ในหู แม้ในจมูก แม้ในลิ้น แม้ในกาย
แม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึง
หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ ปฐมเหตุอัชฌัตตสูตรที่ 7